กทม.กำชับ50เขตตรวจสอบอุโมงค์ทางลอดในพื้นที่ หากพบขัดข้องรีบแก้ไขด่วน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีน้ำท่วมอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟทางเข้าออกหมู่บ้านโกลเด้นนครา เขตประเวศ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ว่า อุโมงค์ดังกล่าวทางหมู่บ้านได้สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน โดยได้เช่าที่ของหน่วยงานราชการในการก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าภายในอุโมงค์มีน้ำรั่วซึมขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดโดยหลักการทางวิศวกรรมแล้วจะต้องมีระบบระบายน้ำ เนื่องจากลักษณะของอุโมงค์ทางลอดจะอยู่ระดับต่ำกว่าผิวดิน ในกรณีระบบระบายน้ำไม่ดี เมื่อฝนตกลงมาน้ำก็จะท่วมอุโมงค์ เพราะฉะนั้นหากมีระบบระบายน้ำที่ดีปัญหาน้ำท่วมในอุโมงค์ก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งระบบระบายน้ำส่วนใหญ่จะเป็นระบบอัตโนมัติเมื่อฝนตกลงมาหรือมีน้ำเข้ามาระบบก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม.มีอุโมงค์ทางลอดที่เปิดใช้งาน 11 แห่ง อุโมงค์ทุกแห่งมีการติดตั้งระบบระบายน้ำ ซึ่งทุกๆ 3 เดือน กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบระบบต่างๆภายในอุโมงค์ทางลอด อาทิ ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ ตรวจสอบพื้นผิวจราจร หากพบว่าจุดใดจุดหนึ่งมีปัญหาจะรีบดำเนินการซ่อมแซมทันที อีกทั้งภายในอุโมงค์จะมีระบบระบายอากาศ เนื่องจากอุโมงค์อยู่ในระดับต่ำกว่าผิวดิน อากาศที่มีสารพิษอาจเข้าไปในอุโมงค์ได้จึงจำเป็นต้องมีระบบระบายอากาศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักการระบายน้ำไปดำเนินการจัดซ่อมระบบระบายน้ำบริเวณอุโมงค์ทางลอดถนนรัชดาภิเษก รวมทั้งสำนักการโยธาดำเนินการปรับปรุงพื้นผิวจราจรอุโมงค์ทางลอดถนนรัชดาภิเษก-ถนนเพชรเกษม (แยกท่าพระ) สำหรับการดูแลบำรุงรักษาอุโมงค์ทางลอดเป็นสิ่งสำคัญทางเจ้าของอุโมงค์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบตลอดเวลา หากตรวจพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ต้องปิดการจราจรโดยทันที

“อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจสอบอุโมงค์ทางลอดในพื้นที่ หากพบว่ามีระบบขัดข้องหรือมีความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ให้สำนักงานเขตแจ้งหน่วยงานหรือผู้ดูแลอุโมงค์นั้นๆ เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขทันที”รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว