มท.2 มั่นใจตำบลขับขี่ปลอดภัย ลดตายได้แน่ หลังดูต้นแบบตำบลขับขี่ปลอดภัย อบต.ท่าชัก นครศรีฯ

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย ในการติดตามการดำเนินงานปัองกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนระดับพื้นที่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการจากทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นครศรีธรรมราช รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบาย ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการ ตำบลขับขี่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการลดการสูญเสียบนท้องถนน โดยการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยการให้จังหวัดกำหนดการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระสำคัญ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ เป็นกลไกหลักในการบูรณาการ ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล ท้องถิ่น อำเภอ จนถึงระดับจังหวัดให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของจังหวัดหนึ่งที่สามารถลดการสูญเสียชีวิต ให้อยู่ในเป้าหมายได้ โดยกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชน โดยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดการสูญเสียในเรื่อง ความปลอดภัยบนท้องถนน ขณะนี้ทางรัฐบาลพุ่งเป้าไปที่ตำบล และท้องที่มากขึ้น ซึ่งโมเดลอย่างนี้มันตรงเป้าหมายในเรื่องของตำบลขับขี่ปลอดภัย วันนี้จึงเดินทางมามอบนโยบาย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่ดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ที่เป็นแบบนี้ได้ทุกจังหวัดของประเทศ ผมเชื่อว่าจะสามารถลดการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน ถึงกว่า 22,000 ราย และพิการอีกกว่า 4 หมื่นถึง 5 หมื่นรายต่อปี ซึ่งวันนี้ถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่จะแก้ไข

วันนี้จึงเป็นการเริ่มขับเคลื่อน ตำบลขับขี่ปลอดภัย เพราะเห็นตัวเลขชัดเจนแล้วว่า ถนนทั้งหมดที่มีอยู่ ที่ใช้สัญจรไปมา และอยู่ในความรับผิดชอบของทางหลวงชนบท ราว 48,000 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของทางหลวงประมาณ 51,000 กิโลเมตร แต่อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นทั้งหมดกว่า 590,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นถ้าคิดเป็นสัดส่วนมีถึง 86 เปอร์เซ็นต์ เป็นถนนที่ใช้ยานพาหนะสัญจร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันนี้ถ้าเราไปดูตัวเลขการเกิดเหตุ จะเกิดในท้องถิ่นถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นวันนี้จึงต้องนำเอาท้องถิ่นที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นกลไก ที่จะดูแลความปลอดภัยบนถนน โดยจะใช้ทั้งท้องที่ และท้องถิ่นร่วมกัน และบัดนี้ในเรื่องของกฏหมาย การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมิ่อต้นปีที่ผ่านมา สนช.ได้แก้ไขในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น ให้ดูแลความสงบเรียบร้อย ดูแลด้านการจราจร ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป บัดนี้เราต้องใช้กลไกของตำบล กลไก สพถ.ระดับอำเภอ สพถ.ระดับจังหวัด ศูนย์อำนวยการปลอดภัยบนท้องถนนระดับจังหวัด ศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนระดับอำเภอ และของท้องถิ่น ซึ่งกลไกเหล่านี้ จะเป็นกลไกหลักในการประสานงาน กับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้

ต่อจากนั้น 16.00 น.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ เดินทางไปเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อดูห้องปฏิบัติการของกล้อง CCTV ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกล้อง CCTV เทศบาลนครนครศรีธรรมราช รายงานสรุปถึงผลการปฏิบัติงาน ในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนถึงการเก็บรายละเอียดของอุบัติเหตุ การวิเคราะห์ศึกษาข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจากทุกทิศทาง และร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ประชุมเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และนำไปสู่การแก้ไข เพื่อร่วมกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นการทำงานในเชิงรุก ทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลง

จากนั้นคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปพบปะกับชุมชน ที่มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ระดับพื้นที่ตำบลท่าซัก ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าซัก โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าซัก ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาคีเครือข่ายตำบลท่าซัก จัดทำโครงการขับขี่ ปลอดภัย รู้วินัย ใส่ใจจราจร สู่ ท่าซักโมเดล เพื่อเป็นการลดการเสียชีวิตจาก 7 รายให้เหลือ 0 ลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยการดำเนินงาน จาก 3 ด่าน ด่านครอบครัว ด่านชุมชน ด้านโรงเรียน โดยกการให้ความรู้แก่ชุมชน ด้วยการพบปะผู้นำชุมชน เพื่อประชุมชี้แจงในเรื่องของการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินงาน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน ขับเคลื่อนผ่านระดับตำบล โดยมีทีม ศปถ. อำเภอเป็นทีมพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นการเข้าถึงผู้นำชุมชน ในอันที่จะร่วมมือ ร่วมแรง และดำเนินงานด้วยชุมชนเองอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ท่าซักโมเดล.