องค์กรประชาธิปไตยขยับ เสนอทางออกฝ่าปัญหาการเมืองก่อนบานปลาย!

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดอภิปรายข้อเสนอทิศทางการเมืองไทย หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมี รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ร่วมอภิปราย

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาสะท้อนภาพความแตกแยกที่ยังไม่คลี่คลายของสังคมไทย ระหว่างพลังอนุรักษ์อำนาจนิยมกับพลังเสรีนิยมประชาธิปไตย และยังลุกลามมาสู่ความขัดแย้งนอกสภา การที่ ส.ว. และส.ส.พรรคพลังประชารัฐยังอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างจึงถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ทำให้ ส.ส.ไม่มีเจตจำนงเสรีซึ่งทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของระบอบรัฐสภา

ขณะที่เรามีรัฐสภาใหม่ นักการเมืองต้องมีการปรับตัวและควรมีพฤติกรรมใหม่ ไม่ให้เสียภาพลักษณ์ แต่ ส.ส.และพรรคการเมืองไม่มีการปรับตัว เช่น การขายตัว การซื้อตัว ทำให้ภาพลักษณ์ของสภายิ่งแย่ลง เป็นพฤติกรรมดาราลิเกหลงยุค และการประท้วงในยุคนี้ไม่น่าจะมี วันแรกประท้วงเกือบ ๒๐ ครั้ง มันน่าคลื่นไส้ ไม่น่ามีในยุคนี้ และในการอภิปรายมีการเล่นเกมกันจนไม่สนใจหลักการ

“การที่ฝ่ายค้านมีการติดต่อฝ่ายรัฐบาล เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกในการเมืองไทย และทำให้การอภิปรายไม่จบ ทำให้เกิดความอัปยศในสภาแห่งแรกที่เพิ่งเปิดใช้ การเปิดดีลกับรัฐบาลจนคุมการอภิปรายอะไรไม่ได้ ถือว่านักการเมืองละเลยสำนึกในพันธกิจของตนเอง จึงต้องแก้พฤติกรรมกอบกู้ภาพลักษณ์ของสภา และป้องกันการเปลี่ยนแปลงล้มล้างระบบรัฐสภา เพราะหากเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เสื่อมทรุดจนเกิดการล้มล้างดังเช่นที่ผ่านมา”

รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังสูญเสียความชอบธรรม พรรคฝ่ายค้านก็อ่อนแอลงอย่างชัดเจน องค์กรอิสระแทบทุกองค์กรความน่าเชื่อถือลดลงเรื่อยๆ ขณะที่การเมืองนอกสภาจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางของสังคมไทยจึงมีแค่ ๓ ทิศทางหลักคือ ๑.รัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา เร่งความขัดแย้งให้เร็วขึ้น ๒.คลายปมความขัดแย้งลงระดับหนึ่งและยืดเวลาออกไป ๓.แก้ปมที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

ประธาน ครป. กล่าวว่า แต่รัฐบาลกำลังเดินใกล้ตกหน้าผา เริ่มจากการอภิปรายโดยรัฐมนตรีบางคนเคยติดคุกในต่างประเทศมีชื่อเสียงอื้อฉาวระดับโลก แต่รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้มีบุคคลเช่นนี้อยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร กองเชียร์รัฐบาลก็ไม่กดดันรัฐบาลของตนเองแต่อย่างใด ภาพลักษณ์ของรัฐบาลยิ่งเสื่อมทรุด รัฐบาลมุงหน้าไปสู่วิกฤตความชอบธรรม ขณะที่นักศึกษาอยากได้เสรีนิยมประชาธิปไตย อยากได้รัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วม แต่ชนชั้นนั้นนำอยากได้ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม

“ผมอยากเตือนพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ความรุนแรงมันเกิดขึ้นจากที่รัฐบาลคุมคนของตนเองไม่ได้แล้วปล่อยให้มีการสร้างความเกลียดชัง ชังชาติ รัฐบาลต้องดูแลตรงนี้ให้ดี ไม่งั้นจะเกิดความรุนแรงขนานใหญ่ การปรับครม.ก็เหมือนการกินยาพาราแก้โรคไวรัสโควิด ๑๙ มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทำให้เสร็จภายใน ๒ เดือน โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะแก้ไขปัญหาการต่อต้านรัฐบาลได้ อยู่ที่ว่า รัฐบาลจะเลือกอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาดประเทศไทย หรือจะเลือกอนาคตของลูกหลานไทย”

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคกรรมติดจรวด รัฐบาลปฎิบัติหน้าที่ยังไม่ถึงปีก็แสดงออกซึ่งปัญหาต่างๆ การเมืองไทยเป็นละครน้ำเน่า นักการเมืองไร้คุณภาพ ไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เป็นผลิตผลของยุค คสช. และการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ การรวบอำนาจ คสช. เพื่อจะเป็นรัฐบาล ๒๐ ปีนั้น สะท้อนความล้มเหลวออกมาในปัจจุบันเร็วกว่าที่คิด ระบบการเมืองที่เกิดขึ้นนอกจากจะไม่สามารถคัดกรองคนดีเข้าสู่ระบบรัฐสภา ไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนและนโยบายเข้ามาทำหน้าที่ในเวทีรัฐสภาได้ ระบบที่ออกแบบโดยคสช.กลับทำลายนักการเมืองแบบใหม่ และให้นักการเมืองแบบเดิมมีอิทธิพลและเติบใหญ่ในปัจจุบัน “เป็นระบบกีดกันน้ำดี เปิดพื้นที่ให้น้ำเน่า”

นายสมชาย ระบบที่ออกแบบโดย คสช. ได้เพิ่มความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้น รัฐธรรมนูญ ๖๐ และกฎหมายลูกที่ออกตามมากลับเป็นตัวกระตุ้นความขัดแย้งออกมามากขึ้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจะเป็นวิกฤต ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงทางสังคมครั้งใหญ่และไม่รู้จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างไร จากผลงานของ คสช.ผู้ออกแบบระบบต่างๆ ที่ผ่านมา

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวต่อว่า ระบบนี้จึงไม่มีเสถียรภาพตามที่ออกแบบกันไว้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง ๒๐ ปี เป็นตัวอย่างสะท้อนว่าการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมและประชาชนไม่มีส่วนร่วมจะไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว และความขัดแย้งครั้งใหม่จากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและทัศนคติความมั่นคงแบบเก่าโดยไม่มองความมั่นคงของสังคมและของประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกไม่นานบรรยากาศบ้านเมืองก็จะไม่ต่างจากช่วง ๖-๗ ปีที่ผ่านมา ทางออกต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน โดยการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยผมมีข้อเสนอต่อสถานการณ์การเมือง ดังนี้

ประเด็นแรก ในฐานะคนรุ่น ๑๔ ตุลา อยากเรียกร้องให้เพื่อนพ้องน้องพี่พิจารณาสถานการณ์ ตัดผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและอคติออก เพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นน้อง รุ่นลูก พวกเขามีสิทธิที่จะสร้างสังคมของพวกเขาเอง เราไม่ได้สร้างสังคมของเราแล้วเพราะคนรุ่นเรากำลังล้มสลายไป ให้เขาเพียงเรียนรู้ประสบการณ์จากรุ่นของเราแล้วทบทวน

ประเด็นที่ ๒ สำหรับคนที่กำลังจะสร้างอนาคตของตนเอง ต้องศึกษาความล้มเหลวและความผิดพลาดของคนรุ่นเก่าเพื่อไม่ให้พลาดซ้ำ อย่าท้อแท้ต่อปัญหาอุปสรรค การก่นด่า การเสียดสีของคนรุ่นก่อน โดยมุ่งหน้าไปด้วยความสุขุมรอบคอบ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้สร้างได้ในวันเดียว อย่าได้ล้มกลางคัน

ประเด็นที่ ๓ กลุ่มองค์กรโดยเฉพาะภาครัฐ องค์กรอิสระ สถาบัน หน่วยงานต่างๆ ที่กำลังปฏิบัติการโดยภาษีของประชาชน ขอให้ลดละและเลิกการเป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นและสันติ ขอให้คิดถึงบทเรียนในอดีตที่ลงเอยด้วยความรุนแรง ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันก็ยากที่จะจินตนาการได้ว่าจะรุนแรงเพียงใด ขอให้ช่วยกันประคับประครองไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทางเลือกหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีต้องถวายรายงานต่อกษัตริย์เช่นเดียวกับอังกฤษเพื่อแก้ปัญหาประเทศร่วมกัน ปัจจุบันเกิดความแตกแยกภายในสังคมไทยแต่รัฐบาลก็ไม่สนใจเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ เพราะรัฐบาลไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหา การปรองดองที่สำคัญคือการมีรัฐธรรมนูญที่เอาทหารออกจากการเมืองไทย

นายกษิต กล่าวว่า ส่วนการอภิปรายที่ผ่านมา เป็นการอภิปรายปาหี่ เพราะเมื่ออภิปรายไม่ได้แล้วไปลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างไร ไม่มีที่ไหนในโลก และฝ่ายค้านไม่ได้เตรียมตัวมาอภิปรายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอภิปรายซ้อนกันอยู่และดูเหมือนฮั้วกัน ทำให้ไทยสูญเสียประมาณจำนวนมาก ถือเป็นการหลอกลวงประชาชนที่คาดหวังการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย ส.ส.ทุกคนไม่ให้ความเคารพต่อประชาชนคนไทยแม้แต่นิด ไม่ให้เกียรติประชาชน

สำหรับทิศทางประเทศไทย เศรษฐกิจไทยเราตกต่ำมาก ไม่สามารถพัฒนาไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ๔.๐ ได้ โครงการอีอีซีและนโยบายต่างๆ ล้มเหลว เพราะตอบสนองแค่บริษัทก่อสร้างและทุนผูกขาด ล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ๑ ถึง ๒ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากมาย การเข้าถึงคุณภาพชีวิตแรงงานและสาธารณสุขต่างกัน ทิศทางของประเทศไทยจึงค่อนข้างมืดมน น่าเสียใจที่ความสามารถของพล.อ.ประยุทธ์คือไม่ฟังใครเลย ฟังอยู่ไม่กี่คน ท่านรังเกียจนักการเมืองแบบเก่าแต่ก็ดึงนักการเมืองแบบเก่ามาเป็นรัฐบาลร่วมกันในนามพรรคพลังประชารัฐ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องหันมาฟังประชาชนให้มากขึ้น

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ตนเองรู้สึกผิดหวังกับการอภิปรายปาหี่ที่ผ่านมา ทำให้เกิด “รัฐสภาอัปยศ” ขึ้น เมื่อพรรคฝ่ายค้านบางพรรคฮั่วกับรัฐบาลแลกประโยชน์ในบางคดีและงบประมาณที่เข้ามาในพรรคการเมือง ตนคิดว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาอยู่ไม่มากแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาทางลงจากหลังเสือให้ดีที่สุด โดยการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อการปรองดอง หยุดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปกองทัพและหยุดยั้งทุนผูกขาดกินรวบประเทศไทย

“รัฐบาลจะต้องปรับ ครม.ใหม่ รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี หากหาในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใน ๓ พรรคที่เหลือไม่ได้ คือพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีก๊อกสองคือใช้เสียงสองในสามในสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกที่เหมาะสมมาทำหน้าที่เฉพาะกาล ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะหากนายกรัฐมนตรีไม่ลาออก ก็ไม่สามารถมีความไว้วางใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้”เลขาธิการครป. กล่าว