‘รุ้ง ปนัสยา’ ขึ้นแท่น 100 ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลประจำปี 2020

บีบีซี ไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้โครงการ 100 Women ของบีบีซีมุ่งนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างขึ้นในสังคมในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวายจากวิกฤตโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “สตรีผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง”

ปนัสยา อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือผู้ที่ขึ้นอ่าน “ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1” เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ บนเวทีชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เธอยังเป็นผู้ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านผู้บัญชาการตรวจนครบาลถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง กับต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยรวมถึงหมวดพระมหากษัตริย์

ปนัสยาซึ่งจัดและเข้าร่วมการชุมนุมอีกหลายครั้ง ถูกจับกุมในคดีชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังที่เรือนจำธัญบุรีก่อนจะได้รับการประกันตัว แต่ถูกจับกุมอีกครั้งจากกรณีการชุมนุมและปักหมุดที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน เธอถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงและได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา นอกจากนี้ เธอยังถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอีกหลายคดี

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ปนัสยาบอกว่าเธอเป็นเพียงนักศึกษาธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการเห็นทุกคนในสังคมมีศักดิ์ศรีและสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

กชกร วรอาคม คือยอดฝีมือคนหนึ่งในวงการภูมิสถาปนิก ผู้มีผลงานมากมายซึ่งมุ่งเน้นให้การใช้พื้นที่ในเมืองตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังทำให้ชุมชนที่มีสภาพเปราะปรางยังดำรงอยู่ได้ กชกรจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ และปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตย์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

ผลงานโดดเด่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ของกชกร คือการออกแบบ ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ’เพื่อช่วยกักเก็บน้ำและสร้างแนวทางป้องกันน้ำท่วม, สวนหลังคา urban farming อาคารป๋วย100 ปี แหล่งอาหารปลอดภัยบนอาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย, สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรก ที่เปลี่ยนโครงสร้างทิ้งล้างให้กลับมาใช้ประโยชน์ และพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่สร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาให้เมืองกับธรรมชาติกลับมาสู่สมดุลที่มากขึ้น และเพิ่มความยืนหยุ่น (urban resilient) ให้เมืองตอบรับกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

เธอได้ริเริ่มองค์กร Porous City Network หรือ ‘ปฏิบัติการเมืองพรุน’ ร่วมกับนักออกแบบอาสาสมัครและนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์และการวางผังมาแก้ไขปัญหาเมืองในชุมชนริมคลองในชุมชนลาดพร้าว ชุมชนประมงกับปัญหาลุกล้ำพื้นที่ทะเลหาดเล็ก จ.ตราด และชุมชนผู้อาศัยบริเวณที่ราบน้ำท่วม ภาคอีสาน ทั้งหมดล้วนเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำและเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

กชกรเป็นภูมิสถาปนิกชาวไทยซึ่งนิตยสาร TIME จัดอันดับอยู่ใน 15 Women Leading the Fight Against Climate Change, TIME 100 Next, และ Bloomberg Green 30 for 2020 และยังคว้ารางวัลการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเมืองระดับนานาชาติอีกหลายรางวัลรวมทั้งรางวัลล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติ 2020 Global Climate Action Awards

กชกรเชื่อว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง จะจัดการได้เพียงลำพัง ทว่าทั้งโลกจะต้องร่วมมือกันเยียวยา “บ้าน” หลังนี้ไปพร้อม ๆ กัน

สิรินยาเป็นทั้งนางแบบ นักแสดง ผู้ดำเนินรายการทีวี และเป็นปากเป็นเสียงให้แก่การรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับสตรี เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคนแรกขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นวีเมน (UN Women) ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ผ่านการให้การศึกษาและการทำงานกับชุมชนและรัฐบาล

ซินดี้เป็นผู้ริเริ่มใชแฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress หลังทางการมีคำแนะนำในช่วงสงกรานต์ปี 2019 ให้ผู้หญิงงดแต่งกายล่อแหลมเพื่อป้องกันการถูกลวนลามทางเพศ อ่านต้นฉบับ