‘กำนันนก’ โดมิโน่! DSI สอบ 65 บริษัท ส่อฮั้วประมูลสร้างทางหลวง

12 กันยายน จากกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่า “กำนันนก“ หรือนายประวีณ จันทร์คล้าย ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรทางหลวง หรือ “สารวัตรแบงก์” นายตำรวจตงฉิน หลังพบว่ากำนันนกมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย รวมถึงประกอบการรับเหมาก่อสร้างผลิตและจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต อีกทั้งพบว่างบการเงินรอบปี 2565 มีรายได้ถึง 746.4 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมประมาณ 5.3 ล้านบาท กำไรสะสมรวม 147.9 ล้านบาท ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบเอกสารข้อมูลงบการเงินของบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด พบว่าบริษัทมีการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 พ.ค.56 ด้วยทุนจดทะเบียนล่าสุด จำนวน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 30/1 หมู่ 1 ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม จดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ประเภทธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ส่วนลักษณะธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างผลิตและจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ด้านรายชื่อกรรมการ 3 ลำดับ ประกอบด้วย 1.นายลออง จันทร์คล้าย ถือหุ้นสัดส่วน 15% 2.นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ถือหุ้นสัดส่วน 15% 3.นางสุวีณา จันทร์คล้าย ถือหุ้นสัดส่วน 30% ขณะที่ข้อมูลงบการเงิน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.65 งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 569,593,595.52 บาท กำไรสุทธิ 2,489,325.26 บาท งบดุลสินทรัพย์รวม 267,214,736.36 บาท หนี้สิน 49,648,055.57 บาท กำไรสะสม 117,566,680.79 บาท

สำหรับบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด พบว่าบริษัทมีการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 ด้วยทุนจดทะเบียนล่าสุด จำนวน 30 ล้านบาท ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ที่ตั้งเลขที่ 41/2 หมู่ 1 ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม สำนักงานสาขา เลขที่ 55 หมู่ 2 ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก เป็นกรรมการและถือหุ้นใหญ่ 270,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 90% จากจำนวนทั้งหมด 300,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ส่วนข้อมูลงบการเงินเมื่อวันที่ 13 พ.ค.66 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.65 งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 176,885,627.88 บาท กำไรสุทธิ 2,729,522.68 บาท งบดุลสินทรัพย์ 62,878,584.89 บาท หนี้สิน 2,516,700.12 บาท กำไรสะสม 30,361,884.77 บาท รวมรายได้รอบปี 2565 รวมประมาณ 746.4 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมประมาณ 5.3 ล้านบาท กำไรสะสมรวม 147.9 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูลฯ) ทำการสืบสวนกรณีบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมีนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก เป็นกรรมการบริษัท ได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน กว่า 1,300 โครงการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท หลังพบเบาะแสข้อมูลการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน มีการกระทำผิดเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” ดีเอสไอ ระบุว่า วานนี้ (10 ก.ย.) เราได้มีมอบหมายให้นักวิเคราะห์บัญชี ดำเนินการตรวจสอบงบดุลของทั้งสองบริษัทดังกล่าวและบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งได้รายละเอียดที่เข้าข่ายน่าสงสัย โดยเฉพาะกรณีที่รายได้ไม่สอดคล้องกับงบดุล เพราะเมื่อตรวจสอบธุรกิจของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก พบว่ารายได้ค่อนข้างมีมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งหากดูจากการยื่นงบดุลที่ผ่านมาไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่าสินทรัพย์ในแต่ละปีมีมูลค่าค่อนข้างสูง จึงหมายความได้ว่าบริษัทของกำนันนกค่อนข้างมีขนาดใหญ่โต

ทั้งยังมีสินทรัพย์หมุนเวียนตั้งแต่หลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป อาทิ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด มีหลักทรัพย์กว่า 100-200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอก็ตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเงินที่ถูกมาจดจัดตั้งบริษัทนั้นมีที่มาอย่างไร ซึ่งก็จะต้องไปสืบค้นขยายผลต่อไปว่าที่มาของเงินมาจากที่ไหน หรืออาจจะมีธุรกิจข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน ดีเอสไอจึงต้องตรวจสอบให้ละเอียดและตรวจสอบให้ครบทุกมิติ รวมทั้งจะต้องตรวจสอบการครอบครอง การได้มาของอสังหาริมทรัพย์ และรายการทรัพย์สินอื่นๆด้วย เช่น อาคารที่พัก บ้านพัก รถหรู เป็นต้น

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า วานนี้ตนได้ออกหมายเรียกพยานแก่ 65 บริษัท เพื่อให้ทยอยเข้าให้ข้อมูลชี้แจงในห้วงวันจันทร์ที่ 18 ก.ย. ถึงวันพุธที่ 20 ก.ย. ซึ่งบริษัททั้งหมดนี้เคยมีการยื่นซื้อซองใน 2 โครงการ ได้แก่ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมาย 346 (ปีงบประมาณ 2564) และการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประมูล e-bidding ซึ่งเป็นพฤติการณ์ต้องสงสัย

หลังจากนั้นดีเอสไอจึงจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัททั้ง 65 แห่ง รวมถึงในการสอบปากคำบริษัทเหล่านี้ในฐานะพยานนั้น เราจะถามผู้ยื่นซื้อซองว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประมูลเหล่านี้ได้อย่างไร มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และระหว่างนั้นเคยถูกข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญไม่ให้เข้ามาในวันประมูล e-bidding หรือไม่ เพราะจากกรณีคดีในท้องถิ่นที่ผ่านมา พบว่ามักจะมีมือที่สามโทรศัพท์ไปข่มขู่ มีพฤติการณ์การกีดกันราคาเกิดขึ้น บางคนอาจจะไม่รู้ พอไปยื่นซื้อซองในพื้นที่ที่มีคนดูแลอยู่แล้ว ก็มักจะมีกลุ่มคนที่เข้ามาอ้างว่าโครงการเหล่านี้ถูกกันไว้แล้ว อ้างว่าเป็นโครงการของผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งการเตรียมเข้าตรวจค้นในขั้นตอนนี้ เราจะเข้าตรวจค้นเพื่อรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติม และเมื่อดำเนินการต่อเนื่องจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความชัดเจน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป คือ ขอศาลอนุมัติตรวจค้นบริษัทรายสำคัญที่มีความเกี่ยวข้อง.