‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ เผยผลสำเร็จธนาคารสินค้าเกษตร200แห่ง ช่วยลดต้นทุนผลิต17%

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สรุปผลความก้าวหน้าโครงการธนาคารสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายยกระดับธนาคารสินค้าเกษตรให้สามารถบริการได้หลากหลาย โดยให้ธนาคารเปิดบริการรับฝาก ถอน ให้ยืม แลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิต อุปกรณ์การเกษตร การตลาด รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคเพื่อให้บริการแก่สมาชิก ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และอีก 5 หน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายเชิดชัย กล่าวว่า จากการประเมินผลสำเร็จของโครงการนี้ พบว่า ธนาคารสินค้าเกษตรเป็นโครงการที่ดีสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ตั้งเป้าว่าจะต้องลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในแต่ละอาชีพให้ได้ 20% แต่ขณะนี้ทำได้แล้ว 17% และจะพัฒนาต่อยอดต่อไป

ทั้งนี้  ในการใช้บริการธนาคารสินค้าเกษตร ต้องมีการสมัครสมาชิกและเสียค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อแจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมกิจกรรมจึงจะใช้บริการได้ ซึ่งในภาพรวมถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอยู่ในเกิน 80% โดยวัดจากเป้าหมายของการใช้บริการและความพึงพอใจของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่มาใช้บริการ ส่งผลทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งช่วยสนับสนุนสมาชิกลดต้นทุนการผลิต และเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถเสริมสร้างในด้านอื่นๆ ด้วย เมื่อเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเหตุและผลไปพร้อมกัน

ส่วนปัญหาอุปสรรคเท่าที่พบคือต้องส่งเสริมการให้บริการแก่เกษตรกรมากขึ้น บางธนาคารต้องพึ่งพางบประมาณซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เช่น ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ต้องไปซื้อน้ำยาทำปุ๋ย ธนาคารประมง ต้องซื้อพันธุ์ปลามาเพาะเลี้ยง ธนาคารโคกระบือ ต้องไปซื้อโคกระบือ

ขณะที่ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือ คนภายนอกมองว่าเกษตรกรทุกคนไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรจะต้องเข้ามาเป็นสมาชิกและเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันก่อนจึงจะเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการจัดตั้งแล้ว 7 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ธนาคารโคกระบือเพื่อเกษตรกร ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ธนาคารโคนมทดแทน ธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร ธนาคารหม่อนไหม และธนาคารประมง ซึ่งแต่ละกรมฯจะดูแลในส่วนของตัวเอง ส่วนธนาคารสินค้าการเกษตรขณะนี้มีทั้งหมด 200 แห่งทั่วประเทศ แต่ละปีจะขยายผลไปเรื่อยๆขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมในสหกรณ์แล้วจะมีผู้สนใจหรือไม่ ถ้ามีผู้สนใจเขาก็ไปส่งเสริมให้ทำแล้วก็ขยายผลต่อยอดให้เพิ่มขึ้น