‘บิ๊กฉัตร’ ลงพื้นที่ตรวจอ่างเก็บน้ำภาคอีสาน จับตาเขื่อนน้ำอูนเต็มความจุ110%

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ ที่ จ.หนองคาย ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำในฤดูฝนที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และนายกรัฐมนตรีโดยเน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานว่าจะต้องผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด หากมีพื้นที่ได้รับผลกระทบต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว เต็มที่และทั่วถึง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวย้ำว่า ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันติดตามและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เป็นอีกหนึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังพิเศษ ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ส.ค. 61 มีน้ำ 574 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 110

ในขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีน้ำเพียง 236 ล้านลบ.ม. เท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 43 ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องวางแผนทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ และวางแผนพร้อมแจ้งให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำเพื่อไม่ให้ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้และจัดสรรน้ำเพื่อน้ำการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

“ปีนี้ประเทศไทยมีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นต้องมีการนำสถิติฝนและสถานการณ์น้ำในอดีต มาวิเคราะห์ร่วมกับการคาดการณ์ในอนาคต เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะ 2 ปี ต้องไม่ประมาทและบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง”

รองนายกฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ถือโอกาสมอบนโยบายลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งต้องทำงานบูรณาการทำงานร่วมกัน และทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างของเขื่อนน้ำอูน การเร่งพร่องน้ำในเขื่อนเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ และการดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สทนช. โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ที่มีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำร่วมกันและยังติดตาม กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกัน โดนขอให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์น้ำตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ด้วย และต้องมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการระบายน้ำเพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย