กกต.เตือนพรรคการเมืองอย่าเคลื่อนไหวหาสมาชิก รอคำสั่งคลายล็อก

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. แถลงข่าวว่า หลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.ก็จะเร่งพิจารณาระเบียบกกต.ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสองฉบับ เบื้องต้นก็จะเร่งระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.มีผลบังคับแล้ว และเมื่อระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศใช้ กกต.ก็จะประกาศให้มีการลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้าคัดเลือกเป็นส.ว. ซึ่งจะมี 2 ประเภท คือ 1. องค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง และ 2. องค์กรนิติบุคคล ที่ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 3 ปีมีการดำเนินกิจการต่อเนื่องและไม่แสวงหาผลกำไร โดยจะเปิดรับลงทะเบียนที่สำนักงานกกต.จังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนบุคคลทั่วไปที่จะลงสมัครก็จะสามารถยื่นสมัครได้ที่ว่าการอำเภอ โดยวันเวลาของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนทางกกต.จะมีการชี้แจงอีกครั้งหลังระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศใช้ อย่างไรก็ตามการคัดเลือกส.ว.ในส่วนของกกต.จะต้องดำเนินการคัดเลือกให้ได้ส.ว.200 คน และส่งให้คสช. 15 วันก่อนวันเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อและสำรองอีก 50 ชื่อ

ส่วนการเตรียมการเลือกตั้งส.ส. ขณะนี้ยังอยู่ในช่วง 90 วันของการรอการบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยจะครบ 90 วันในวันที่ 10ธ.ค. และจะเข้าสู่ระยะเวลาต้องการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 61 โดยวันสุดท้ายคือวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งเมื่อมีการคลายล็อคคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 กกต.ก็จะใช้ช่วงเวลา 90 วันที่รอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์ตามแนวทางของรัฐบาลโดยจะเร่งดำเนินการในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชน รวม 10 วัน และคาดว่าจะใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ 55-60 วัน เมื่อแล้วเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองที่กระบวนการทำไม่ใช่ทำได้ถึงแค่วันสุดท้ายก่อนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลใชับังคับ แต่พรรคสามารถทำได้จนถึงวันก่อนรับสมัครเลือกตั้ง ถือว่าพรรคมีเวลามากกว่า 30 วันในการดำเนินการ

เลขาธิการกกต. ยังเชื่อว่าระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอที่พรรคจะทำไพรมารีโหวต เพราะแม้การหาสมาชิกพรรคจะทำได้หลังคลายล็อค และกกต.ต้องตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค แต่กฎหมายก็ให้สมาชิกรับรองคุณสมบัติของตนเองที่นำมายื่นสมัคร และแม้ภายหลังจะพบว่าเป็นข้อมูลเท็จบุคคลนั้นก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งถ้าหากผู้นั้นไปร่วมในกระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนไพรมารีโหวตของพรรคต้องเสียไป เพียงแต่คนที่ทำก็ต้องถูกลงโทษ

อย่างไรก็ตามเลขาธิการกกต.เลี่ยงที่จะให้ความชัดเจนว่าการหาสมาชิกพรรคของพรรคการเมือง หลังคลายล็อคจะสามารถใช้วิธีการขึ้นป้ายเชิญชวน หรือขึ้นเวทีพูดเชิญชวนได้หรือไม่ และเห็นว่าต้องพิจารณาเป็นกรณีไป รวมทั้งต้องรอคำสั่งคลายล็อคของคสช.ที่จะออกมาก่อน