นายกฯเปิดประชุม ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ย้ำให้รัฐบาลทุกชุดใช้งบประมาณถูกต้อง

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา” ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยกล่าวปาฐกถาว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานมีความต่อเนื่อง และทุกหน่วยงานถือเป็นตัวแทนให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องมีการสร้างความเข้าใจ การรับรู้ให้ตรงกัน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นอนาคตและเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไปสู่วันข้างหน้า ซึ่งวันนี้ถือเป็นก้าวแรกให้ประเทศเดินไปอย่างมั่นคง และเพื่อให้รัฐบาลทุกรัฐบาลทำงานประสานกันได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้งบประมาณอย่างถูกต้องและไม่ผิดหลักการ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด และให้เกิดความเท่าเทียม มีการบูรณาการงบประมาณต่างๆในทุกพื้นที่ ตามศักยภาพที่ได้วางไว้

พร้อมยืนยันว่า วันนี้สถานะทางการเงินของไทยมีความมั่นคงในอันดับต้นๆของภูมิภาค เพราะรัฐบาลไม่ได้ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม และยังมีการร่วมทุนกับเอกชน ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่มีหนี้สาธารณะในขณะนี้ ไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย เพราะไม่เกินกว่าร้อยละ 60 และรัฐบาลกำลังดำเนินการให้ดีขึ้น ทั้งนี้ไทยมีเงินกองทุนสำรองของประเทศอยู่ถึง 3.5 เท่าของหนี้ระยะสั้น ทั้งนี้รัฐบาลยังได้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และสัญญาขายฝากที่ดิน ที่สามารถเรียกคืนโฉนดที่ดินให้กะบประชาชนได้ ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหานี้ได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ย้ำเสมอคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ที่ต้องก้าวไปด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลนี้มีนโยบาย Thailand +1 และไทยแลนด์ 4.0 โดยนำศักยภาพที่มีอยู่มาเป็นตัวกำหนด ให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแบบประชารัฐและไม่สร้างความขัดแย้ง และย้ำถึงความจำเป็นในการมีเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนแจ้วเบาะแสการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะมีมาตรการคุ้มครองพยาน และจากสถิติถือว่ารัฐบาลคลี่คลายปัญหาได้ดีขึ้น มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้มากขึ้น

สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง เน้นรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้ไทยเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร ด้านการพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้าน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ