พาณิชย์เร่งสอบนำเข้ามะพร้าวทำราคาตกต่ำ

พาณิชย์แจงราคามะพร้าวตกต่ำจากการนำเข้าสูงขึ้น เตรียมเสนอคณะกรรมการออกมาตรการดูแลด่วน

นายอดุลย์  โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการติดตามและประเมินสถานการณ์การผลิต การบริโภค โดยเฉพาะการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศที่มีความเข้มงวดตามที่ไทยผูกพันมาตรการโควตาและอัตราภาษีสินค้ามะพร้าวครอบคลุมมะพร้าวทั้งผลมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวอื่นๆ เปิดตลาดปีละ 2,317 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 นอกโควตาภาษีจะสูงถึงร้อยละ 54 ภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้ตั้งแต่เปิดตลาดจนถึงปัจจุบันไม่มีการนำเข้าในโควตา

นายอดุลย์ กล่าวว่า ผู้นำเข้าส่วนใหญ่นำเข้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ  AFTA  ที่มีภาษีเป็น 0 แต่จะต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมฯ และนำเข้ามาเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำมันพืช เป็นอาหารคนในกิจการของตนเองไม่เกินปริมาณที่ระบุไว้ตามแผนการนำเข้า และการใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งทั้ง 2 ข้อตกลงกำหนดช่วงเวลานำเข้าที่แน่นอนช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม และเดือนกันยายนถึงธันวาคมของปีทุกปี ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษถาคมที่ผ่านมามีปริมาณนำเข้ามะพร้าวผลประมาณ 168,000 ตัน  ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ปริมาณ 178,000 ตัน ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูก ทั้งประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ร้องเรียนว่ามีการลักลอบนำเข้า จึงตั้งข้อสังเกตและมีความเป็นไปได้ที่ราคามะพร้าวตกต่ำมาจากปัญหาการลักลอบนำเข้า จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรและพิจารณาแผนนำเข้าของผู้นำเข้าแต่ละรายอย่างเข้มงวด รวมทั้งจะต้องมีหนังสือรับรองว่าต้องไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการปกติที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามและประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยอาจจะต้องพิจารณาแนวทางการกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าใหม่ให้มีระยะเวลาน้อยลง แม้จะมีโควตาผูกพันตามข้อตกลงต่าง ๆ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ แต่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวของไทยแต่ละปี จะมีน้อยกว่าความต้องการบริโภค