‘จตุพร’ ฟันธงความอดอยาก จะเป็นวิกฤติโหมกระหน่ำรัฐบาลให้พังพาบ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิเคราะห์การเมืองผ่านรายการลมหายใจพีซทีวีเวทีทัศน์ เมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า “ผมได้ประเมินเหตุการณ์ทางการเมืองในอนาคตว่า จะไม่เหมือนกับในช่วง 10 ปีมานี้ ไม่เหมือนเรื่องคนเสื้อแดง หรือคนเสื้อเหลือง แต่เป็นเรื่องของคนอดอยากหิวโหย และจะไม่มีแกนนำและใครควบคุมอะไรกันได้”

นายจตุพร กล่าวถึงประชาชนอดอยากว่า เริ่มจากรัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อต่อต้านโควิด-19 โดยก่อนจะมีมาตรการออกมาเป็นระยะๆนั้น การปฏิบัติการไอโอได้นำร่องให้ประชาชนหวาดกลัว จนต้องปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะติดเชื้อหลายแสนคนและจะตายหลายหมื่นคน

ถึงขณะนี้ มีความภาคภูมิใจกับตัวเลขมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยลง แต่การปฏิบัติการไอโอ ยังตอกย้ำกันอีกว่า ประเทศไทยจะติดเชื้อไวรัสหลายหมื่นคนและจะตายหลายร้อยคน เมื่อผ่านจุดต้องพิสูจน์คือวันที่ 15 เมษายน มาร่วมเดือน ปรากฏว่า ปฏิบัติการไอโอเชิงตัวเลขให้เกิดหวาดกลัวนั้น ผิดทั้งหมดและเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง แต่มาตรการของรัฐบาลยิ่งเข้มงวดหนักขึ้น เมื่อประชาชนทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ ความอดอยากหิวโหยจึงรุมกระหน่ำซ้ำตามมา

ส่วนมาตรการแจกเงินที่ประชาชนไปร้องทุกข์สิ้นสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้และการพิจารณาทบทวนสิทธิ์จะแล้วเสร็จในวันที่ 17 พฤษภาคม นี้ ก็จะรู้ว่าคนตกหล่นไปประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคนก็จะเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาใหญ่มากกว่านั้นคือ หากจ่ายเงินเยียวยาตรงเวลาครบ 3 เดือน แล้วหลังจาก 3 เดือนจะว่ากันอย่างไร

นายจตุพร กล่าวว่า มีการเปรียบเปรยกันว่า สภาพรัฐบาลปัจจุบันกับกิจการของการบินไทยต่างรอเจ๊งทั้งคู่ แม้ยังต้องประคับประคองกัน แต่ที่สุดแล้วจะเจ๊งกันไปแบบเบ็ดเสร็จเมื่อไหร่ โดยในยามที่ประเทศเป็นปกติ การบินไทยก็เจ๊ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีนายกรัฐมนตรีคนใดบ้างที่อยู่ในยุคที่การบินไทยได้กำไร

ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แม้การบินไทยเคยเป็นสายการบินแห่งความภาคภูมิใจ แต่ด้วยความไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา จึงเป็นความท้าทายของการบินไทย ดังนั้นตนต้องการรักษาสายการบินแห่งชาตินี้ไว้ โดยเสนอให้เอกชนถือหุ้น 39 % ส่วนรัฐถือหุ้น 60 % ตามเดิม เพราะการบินไทยและสหภาพการบินไทยก็รู้ดีว่า หากเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เมื่อเอกชนได้ครองหุ้นข้างมาก จะไม่ปล่อยให้การบินไทยเป็นเช่นนี้

“หากการบินไทยยังไม่ทบทวนตัวเอง ยังเกลือกกลั้วกับทางการเมือง โดยไม่รู้จักแยกแยะสมบัติชาติ ทุกคนก็มีความอึดอัด จึงควรจะพอได้แล้วกับทัศนคติทางการเมืองแบบตื้นๆ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเหมือนหัวข้อที่ผมบอกว่า ไม่ได้แช่ง อย่างไรก็พัง อีกทั้งมองว่า รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในตอนนี้เปรียบเสมือน ขี่ช้างจับตั๊กแตน หรือ เผาป่าเพื่อฆ่าหนูตัวเดียว”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในพรรครัฐบาล ยังมีความคุกรุ่น โดยเฉพาะพรรคหลักอย่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าดูเงียบๆ แต่เหมือนภูเขาไฟที่กำลังระเบิด ดังนั้น สถานการณ์แบบนี้ไม่สอดคล้องกับประเทศที่กำลังพบกับความยากลำบาก แต่รัฐบาลอาจไปดีใจกับผลโพลว่ามีความนิยมเพิ่มขึ้นอีก 10% คือจาก 36% ช่วงที่รัฐบาลทำจดหมายขอความเห็นมหาเศรษฐี วันนี้มาอยู่ที่ 46%

หากคิดว่านั้นคือความสำเร็จ ก็เป็นความสำเร็จด้านเดียว เพราะว่าทุกคนต่างปรบมือให้กับหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จในเรื่องโควิด-19 แต่ความอดอยากหิวโหยความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจกลับสอบตกโดยสิ้นเชิง นี่คือโลกแห่งความเป็นจริงในขณะที่ผลโพลพุ่งขึ้น แต่ชาวบ้านเอาหัวลง

ส่วนสถานการณ์ควิด-19 นั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตนได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เเพทย์ท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทหน้าที่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ได้ถามว่าสถานการณ์โรคจริงๆของประเทศไทยเราอยู่ในสถานการณ์ใด ซึ่งอาจารย์แพทย์พยายามอธิบายว่า สาเหตุที่การแพร่เชื้อในประเทศไทยไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศ เป็นเพราะคณะแพทย์ไทยจัดการต้นเหตุได้ก่อน แล้วดำเนินมาตรการต่างๆได้อย่างครบถ้วน

อีกทั้ง ตนได้แลกเปลี่ยนสอบถามกันว่า วัคซีนจะมาใช้ป้องกันโควิด-19 ต้องใช้ระยะเวลาอีกกี่เดือน ก็ได้รับคำตอบที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรายละเอียดรองรับมากมาย โดยบอกว่า วัคซีนจะได้ภายใน 1 ปีครึ่ง นั่นหมายความว่า เราจะอยู่กับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปถึงเดือนธันวาคม 2564 แม้เเพทย์บางคนจะบอกว่า จะเป็นเดือนเมษายน 2564

รวมทั้ง อาจารย์เเพทย์ท่านนี้บอกว่า บทเรียนหลายโรคที่มีการยกตัวอย่างกันมากมาย ก็คาดการณ์ว่าต้องเป็นธันวาคม 2564 ประเทศไทยถึงจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้สัดส่วนใดในการประเมิน ก็ยังคงต้องใช้เวลาร่วมปีก็พอจะเห็นชะตากรรมของประเทศ

“ผมพูดวันนี้อาจจะเป็นยาขมสำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สิ่งสำคัญคือวันนี้เราจะอยู่กับยาหอมไม่ได้ เพราะมันเป็นมายาภาพ จะต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงว่า วันนี้ประชาชนมีความทุกข์ แต่ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือกลไกของรัฐแทนที่จะลงถึงพื้นที่ก่อนที่ชาวบ้านจะมากรุงเทพ”นายจตุพร ระบุทิ้งท้าย