เปิดข้อมูลจริง!นโยบาย ‘จำนำยุ้งฉาง-ลดพื้นที่ปลูกข้าว’ ดีต่อชาวนา

สศก.เผยข้อมูลชัดๆ ข้าวขาวภาคกลางราคาดีขึ้น ไม่ใช่ตันละ  5-6 พันตามข่าวมั่วในโซเชียล ยันมาตรการจำนำยุ้งฉางช่วยชะลอข้าวเปลือกไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ ส่วนนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว 2-3 ล้านไร่ หนุนปลูกพืชอื่นทดแทนใช้เวลาไม่มาก ผลผลิตดีมีกำไร

20 ก.ค.61 – กรณีสื่อโซเชียลมีเดียและบุคคลได้วิพากษ์วิจารณ์ราคาข้าวขาวในพื้นที่ภาคกลาง ที่ขายได้ในราคาเพียง 5,000-6,000 บาท รวมทั้งมาตรการจำนำยุ้งฉาง ไม่สามารถดูแลชาวนาได้โดยตรง และประเด็นนโยบายการลดพื้นที่ปลูกข้าว 2-3 ล้านไร่ แล้วให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังทดแทนว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องนั้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวปัจจุบัน พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15 % ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาทั้งประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2561 เฉลี่ยตันละ 7,835 บาท โดยภาคกลางราคาเฉลี่ยตันละ 7,804 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 ปี 2561 (มกราคม – กรกฎาคม 2561) เฉลี่ยตันละ 13,529 บาท

สถานการณ์การผลิตข้าว ปัจจุบันพบว่า ข้าวมีผลผลิตส่วนเกินจากความต้องการตลาด โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศประมาณ 71.8 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 32.63 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการทั้งในและนอกประเทศเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 30.88 ล้านตัน ดังนั้นจึงเกิดผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตัน เมื่อคำนวณกลับเป็นพื้นที่จะมีเนื้อที่ปลูกข้าวมากเกินความต้องการ 2.6 ล้านไร่

รัฐบาลจึงได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกมิให้ออกสู่ตลาดในปริมาณมากเกินความต้องการของตลาด โดยให้เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเพื่อรักษาระดับราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ ตลอดจนให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรมียุ้งฉางของตัวเอง จะต้องเป็นยุ้งฉางที่มั่นคงแข็งแรงที่สามารถเก็บข้าวเปลือกไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่กู้เงิน โดยไม่ทำให้ข้าวเกิดความเสียหายและเสื่อมคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง (เช่น เกษตรกรในภาคกลาง 22 จังหวัด) สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยนำไปเข้าร่วมกับสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับส่วนงานราชการ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน (รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชน) ที่รวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 จากสมาชิกสถาบันเกษตรกร

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวนา รัฐบาลจึงได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri-Map ซึ่งในรายการพืชอื่นๆ นั้น มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นทางเลือกหนึ่งและมีพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ

โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 6.71 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 5.03 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการตลาดเฉลี่ยปีละประมาณ 7.95 ล้านตัน ดังนั้น ตลาดต้องการเพิ่มอีกถึง 2.92 ล้านตัน โดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่นที่ 2 ช่วงพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ จะตรงกับช่วงนาปรังพอดี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถทำข้าวนาปีต่อได้เลย

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี2560/61 มีเป้าหมาย 700,000 ไร่ โดยรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นต้นทุนการผลิตไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อราย ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วม ทั้งหมด 67,000 ราย พื้นที่ 500,000 ไร่ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการเกิดประโยชน์ ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,000 กก./ไร่ สามารถขายได้ 7.3 บาท/กก. ทำให้มีรายได้ 7,300 บาท/ไร่ กำไร ประมาณ 3,300 บาท ซึ่งสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งมีกำไรเพียงไร่ละ 560 บาท/ไร่ ทำให้มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพดีออกสู่ตลาดกว่า 500,000 ตัน โดยไม่ต้องนำเข้าข้าวสาลี สามารถปรับสมดุลการผลิตข้าวใน ฤดูกาลผลิต 2560/61 ทำให้ราคาข้าวดีขึ้น เนื่องจากลดปริมาณข้าวนาปรังส่วนเกิน และเป็นการปรับระบบการปลูกข้าว ไม่ให้มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชลงได้