นายกฯประชุมผู้นำ BIMSTEC ยกไทยแลนด์ 4.0 โมเดลเศรษฐกิจพาประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 พร้อมผู้นำ BIMSTEC ได้แก่ ขัทคะ ปราสาท ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เชริง วังชุก หัวหน้าคณะผู้บริหารชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน นเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย วิน มินต์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และไมตรี ปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอข้อคิดเห็น 5 ประเด็น เพื่อนำ BIMSTEC เป็นอนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน เริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือ 14 สาขา ซึ่งไทยเสนอความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความเชื่อมโยง เป็นนโยบายหลักภายในประเทศ เน้นเชื่อมโยงทางบกและทางทะเล โดยความเชื่อมโยงทางบก นอกจากเรื่องถนน และโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังมีโครงการถนนสามฝ่าย ระหว่างอินเดีย – เมียนมา – ไทย เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกถึงตะวันตกของกลุ่มประเทศ ACMECS อย่างไร้รอยต่อ

รวมทั้งการเชื่อมโยงด้านพลังงาน เช่นเดียวกับความเชื่อมโยงทางทะเล เป็นการขนส่งที่ต้นทุนต่ำสุด ต้องเร่งกระบวนการ เพื่อให้ BIMSTEC ลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่งภายใต้กรอบ BIMSTEC ให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2019 เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงครอบคลุมท่าเรือของประเทศในอ่าวเบงกอล ทั้งการเชื่อมโยงท่าเรือของจังหวัดระนองฝั่งตะวันตกของไทยกับท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ ขยายสู่ท่าเรือกัลกัตตา เจนไน วิสาขปัตนัม ของอินเดีย จนถึงท่าเรือฮัมบันทอตา ของศรีลังกา

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันความพร้อมของไทย ทำให้ BIMSTEC ขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยนำประสบการณ์และนโยบาย Thailand 4.0 มาใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจ เพื่อนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงแนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจ และวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นด้านการวิจัยและการพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่เน้นคนและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่งคง ควบคู่กับการเชื่อมไทยเข้ากับประชาคมโลก